วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

6 สิ่ง ควรรู้ เพื่อ ดูแลลูก เดือนแรก



     อย่าปล่อยให้ช่วงเวลา 1 เดือนแรกหลังคลอดพุ่งผ่านไปอย่างรวดเร็วจนเราหัวหมุน เพราะอันที่จริง มีสิ่งต่างๆ ที่เราต้องทำ เรียนรู้ และปรับตัวกับลูกรักวัยแบเบาะของเรามากมายนัก นับตั้งแต่ลูกแรกเกิดจนอายุครบ 1 เดือน เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิถีชีวิตของครอบครัว จากที่เคยมีกันอยู่สองคน (ถ้าเพิ่งจะมีลูกคนแรก) ก็มีสมาชิกตัวเล็กๆเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง เป็นหนึ่งเดียวที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง จะพูดจาสื่อสารกับใครก็ยังไม่ได้ ได้แต่ร้องไห้ จะกินจะนอนอย่างไร ชอบให้อุ้มอย่างไร ล้วนเป็นปริศนาที่แสนท้าทายสำหรับพ่อแม่ที่จะต้องค่อยๆสังเกต และปรับตัวให้เข้ากับสมาชิกตัวน้อยคนนี้
     ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่มาพบหมอครั้งแรกตามนัด 1 เดือน จึงเป็นเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะได้พูดคุย ถามไถ่ข้อสงสัย เพื่อคลายความกังวล ส่วนคุณหมอจะได้ตรวจร่างกายลูก เพื่อดูการเจริญเติบโต และพัฒนาการว่าเป็นไปตามวัยหรือไม่ รวมถึงแนะนำเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดกับทารกวัยนี้ด้วย
     ต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบและใส่ใจ เพื่อการ ดูแลลูกแรกเกิดในเดือนแรกนี้ค่ะ
     1. การนัดมาตรวจหลังจากกลับบ้าน 
     หลังจากนำลูกกลับบ้าน ในช่วงสัปดาห์แรก จะเป็นช่วงที่ทุกคนปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ที่มีลูกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ถ้าทั้งพ่อและแม่ช่วยกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ศึกษาและสังเกตลูก จะทำให้การปรับตัวค่อยเป็นค่อยไปอย่างราบรื่น
     ถ้าลูกคลอดโรงพยาบาลของรัฐ คุณหมอมักจะนัดเมื่อครบ 1 เดือน (บางแห่งนัด 2 เดือน) แต่ในช่วงระหว่างนั้นจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปเยี่ยมบ้าน เพื่อแนะนำการเลี้ยงดู แต่สำหรับคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน หมอมักจะนัดกลับมาดูหลังจากกลับบ้านประมาณ 7 วัน เพื่อดูเรื่องต่อไปนี้ค่ะ
– มีตัวเหลืองหรือไม่?
ทารกที่กลับบ้านเร็วก่อนอายุ 4 วัน อาจจะยังไม่เห็นตัวเหลืองในวันที่กลับบ้าน เพราะอาการตัวเหลืองที่เกิดเป็นปกติในทารกแรกเกิดจะเริ่มเห็นตั้งแต่วันที่ 3-4 การนัดกลับมาดูในช่วงนี้ เพื่อดูว่าตัวเหลืองหรือไม่ เหลืองมากน้อยเพียงใด ถ้าดูเหลืองมากอาจจะต้องเจาะเลือดเพื่อดูระดับสารเหลืองและหาสาเหตุ
– สะดือแห้งดีหรือไม่?
หลังคลอดมักจะแนะนำให้เช็ดตัวทารกไปก่อน จนกว่าสะดือจะหลุดจึงค่อยลงอาบน้ำในอ่างน้ำ ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดสะดือ โดยดึงสะดือขึ้นจนเห็นรอยต่อระหว่างสะดือกับผิวหนัง และเช็ดบริเวณนั้นให้สะอาด ถ้าสะดือหลุดแล้ว อาจมีเลือดซึมเล็กน้อยและหยุดไปเอง บริเวณตอที่สะดือเพิ่งหลุดออกไป จะมีสีเหลืองๆ ดูเปียกเยิ้มอยู่สักวันสองวัน แล้วจะแห้งกลายเป็นผิวหนังปกติในที่สุด
– การกินนมเป็นอย่างไร?
คุณแม่ที่ต้องการให้ลูกได้นมแม่ ควรให้ลูกดูดนมแม่อย่างเดียวโดยยังไม่ต้องให้นมอื่น หากช่วงนี้มีปัญหา จะได้ให้คำแนะนำและแก้ไขเสียตั้งแต่เนิ่นๆหลังคลอด
     ปัญหาที่พบบ่อยคือ ความกังวลว่าน้ำนมแม่ออกน้อย กลัวลูกดูดไม่พอ (เพราะคุณแม่ไม่ได้เห็นกับตาว่าลูกได้นมเข้าไปเท่าไร) การที่น้ำนมแม่จะมีมากนั้นขึ้นกับการดูดของลูกโดยตรง ก่อนที่ลูกจะดูดนมแม่ได้คุณแม่ต้องอุ้มลูกให้ถูกท่าก่อนค่ะคืออุ้มให้ลูกตะแคงทั้งตัว ท้องลูกแนบท้องแม่ และปากลูกอยู่ระดับเดียวกับหัวนม
     ประการต่อมาคือลูกงับหัวนมเข้าในปากจนลึกมากพอที่เหงือกลูกจะไม่กดลงที่หัวนม และที่สำคัญคือคุณแม่ให้ลูกดูดนมแม่บ่อยเท่าที่ลูกต้องการ ในสัปดาห์แรกนี้อาจจะดูดกันทั้งวันทั้งคืน แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องกกกอดให้ดูดนมถี่เช่นนี้ตลอดไปนะคะ เพราะในเดือนที่สองแม่ลูกจะรู้ใจกันและปรับช่วงเวลาดูดนมให้เหมาะสมกันทั้งคู่ได้
     คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมแม่แต่ละข้างให้นานมากพอจนน้ำนมเกลี้ยงเต้า เพื่อที่ลูกจะได้น้ำนมส่วนต้นซึ่งมีน้ำมาก และได้น้ำนมส่วนท้ายที่มีไขมันมากด้วย น้ำนมส่วนท้ายนี้แหละค่ะที่ทำให้ทารกอิ่ม ถ้าลูกดูดข้างละไม่นาน ทำให้ลูกได้แต่น้ำนมส่วนต้น ยังไม่ได้ไขมันตบท้ายมื้ออาหาร จึงทำให้หิวบ่อยได้ค่ะ
– การถ่ายอุจจาระเป็นอย่างไร?
ทารกที่กินนมแม่มักจะถ่ายอุจจาระบ่อย วันละหลายครั้ง บางคนถ่ายอุจจาระหลังกินนมแม่ทุกครั้ง ทั้งนี้เพราะเมื่อลูกดูดนมแม่ จะมีการกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวขับอุจจาระออกมา ลักษณะอุจจาระจะเหลวคล้ายสังขยา สีเหลืองทอง เป็นอุจจาระปกติไม่ใช่ท้องเสียค่ะ
     2. การนัดตรวจเมื่อลูกอายุครบ 1 เดือน
– การเจริญเติบโตด้านร่างกาย
ดูจากการชั่งน้ำหนัก วัดความยาว วัดเส้นรอบศีรษะ และเส้นรอบอก น้ำหนักเฉลี่ยในเดือนแรกจะขึ้นจากแรกเกิดประมาณ 500-800 กรัม คุณหมอจะบันทึกน้ำหนัก ส่วนสูง ลงในเส้นกร๊าฟแสดงการเจริญเติบโต ซึ่งมักจะมีในสมุดสุขภาพของทารกแต่ละคน
แม่ไม่ควรนำน้ำหนักของลูกไปเปรียบเทียบกับของเด็กคนอื่น ให้เปรียบเทียบกับตัวของเขาเอง กล่าวคือดูว่าน้ำหนัก ส่วนสูง ของลูกไต่ขึ้นไปตามเส้นกร๊าฟที่แสดงน้ำหนัก ส่วนสูงแรกเกิดของเขาหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ทารกที่น้ำหนักแรกคลอด 2 กิโลกรัม จะมีเส้นกร๊าฟสำหรับน้ำหนัก 2 กิโลกรัม อย่าไปเปรียบเทียบกับทารกที่แรกคลอดหนัก 3 กิโลกรัม หากน้ำหนักขึ้นขนานไปกับเส้นกร๊าฟถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
เส้นรอบศีรษะก็เช่นเดียวกัน หากวัดแล้วขึ้นได้ปกติ ถือว่าการเจริญของสมองปกติ
– พัฒนาการของทารก
ทารกในวัยนี้เมื่อจับนอนคว่ำ จะยกศีรษะขึ้นได้เล็กน้อย เมื่อเอาไฟฉายส่องที่หน้าจะตอบสนองโดยการกะพริบตา ทารกสามารถจับจ้องมองหน้าแม่และมองตามได้ มีการตอบสนองต่อเสียงของคนที่คุ้นเคยโดยหันหาที่มาของเสียงได้
– พฤติกรรมของทารก
ทารกวัย 1 เดือนจะเริ่มมีพฤติกรรมตอบสนองต่อการอุ้มของพ่อและแม่ ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เมื่อแม่อุ้ม การขยับแขนขา การแสดงสีหน้าของทารกจะดูนุ่มนวล เหมือนรอคอยให้แม่เห่กล่อม แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นพ่ออุ้ม สีหน้า การขยับแขนขาจะเปลี่ยนไปเป็นแบบแข็งๆขืนๆ เหมือนกับรู้ว่า ถ้าพ่ออุ้มจะมีการหยอก เล่น ลูกเริ่มเรียนรู้ว่าพ่ออุ้มไม่เหมือนแม่ พฤติกรรมนี้แสดงให้เห็นว่าทารกเล็กๆ ก็เริ่มมีการพัฒนาของสมองส่วนความจำแล้ว
เมื่อทารกอายุครบเดือน แต่ละคนจะแสดงลักษณะเฉพาะตัวให้เห็นมากขึ้น เช่น เป็นเด็กขี้ร้องปลอบให้หยุดยาก หรือเป็นเด็กที่กินแล้วเอาแต่นอน พ่อแม่ที่ใกล้ชิดลูกจะสังเกตและตอบสนองลูกได้ตามลักษณะของลูก แต่โดยทั่วไปแล้วทารกที่ครบเดือนส่วนใหญ่จะร้องไห้มากขึ้นกว่าช่วงที่เพิ่งแรกเกิด ทั้งนี้เพราะระบบประสาทมีความสมบูรณ์ขึ้น รู้ร้อนรู้หนาวมากขึ้นนั่นเองค่ะ
     3. การร้องไห้ของลูกคือการสื่อสาร 
     คุณพ่อคุณแม่หลายรายคิดว่าเมื่อใดที่ลูกร้องแสดงว่าลูกมีความเจ็บปวด ทั้งนี้เพราะเราเอาความรู้สึกของผู้ใหญ่มาตัดสิน คือผู้ใหญ่จะร้องไห้ต่อเมื่อเจ็บตัวหรือเจ็บใจ ก็คิดว่าทารกจะร้องเพราะสาเหตุเดียวกัน แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้นค่ะ
ทารกยังไม่มีภาษาพูดที่จะพูดจาสื่อให้คนอื่นรู้ ทารกจึงใช้การร้องไห้นี่แหละค่ะแทนภาษาพูด เพราะฉะนั้น พ่อแม่ต้องมาเรียนรู้ภาษาของลูก คือเรียนรู้ว่าเสียงร้องแต่ละแบบนั้นลูกต้องการบอกเราว่าอย่างไร หิว เปียก ร้อน หนาว หรือว่าเพียงแค่ต้องการให้อุ้ม การตอบสนองต่อการร้องไห้ของลูกจะไม่ทำให้เสียเด็ก ตรงกันข้าม การตอบสนองที่ถูกต้องทำให้ลูกเกิดความเชื่อมั่น และความไว้วางใจ ซึ่งคือรากฐานของพัฒนาการในช่วงวัยทารกนี้
นอกจากเรียนรู้ภาษาของลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรจะพูดคุยกับลูกไปด้วยในช่วงเวลาที่ลูกตื่น เช่น หลังอาบน้ำ ลูกจะสดชื่นพร้อมที่จะรับฟังค่ะ
     4. การนอนหลับของลูก 
     ในช่วงเดือนแรกทารกมักจะยังนอนหลับในระหว่างเวลากลางวัน และตื่นในเวลากลางคืน เหมือนขณะที่ยังอยู่ในท้องแม่ คุณแม่จึงควรปรับตัวให้งีบหลับไปกับลูกในช่วงที่ลูกหลับได้ หลังจากเดือนแรกไปแล้ว ทารกจะค่อยๆปรับการนอนเป็นนอนกลางคืนตื่นกลางวัน
     5. การกินนม 
     ทารกอายุหนึ่งเดือนยังกินนมแม่อย่างเดียว ไม่ต้องให้อาหารอื่นเสริม เพราะทารกยังไม่มีน้ำย่อยสำหรับย่อยอาหารอื่น และนมแม่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ที่สุดสำหรับลูก มีสารอาหารต่างๆครบถ้วน รวมทั้งสารป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ที่สำคัญคือมีสารที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของสมอง
     6. คำแนะนำเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในทารก 
     อุบัติเหตุที่อาจเกิดกับทารกวัย 1 เดือนมักเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมรอบๆตัว เช่น น้ำที่ใช้อาบร้อนเกินไปจนเป็นอันตรายต่อผิวหนังของทารก ป้องกันได้โดยการใช้ข้อศอกของแม่จุ่มลงในน้ำอาบของลูกทุกครั้งก่อนอุ้มลูกลงในอ่าง ถ้าใช้วิธีต้มน้ำ ให้ใส่น้ำเย็นก่อนแล้วจึงเติมน้ำร้อนลงไปผสมให้อุ่นพอดี ถ้าใช้น้ำร้อนจากเครื่องทำน้ำร้อน ให้ตั้งอุณหภูมิเครื่องที่ 120 องศาฟาเรนไฮต์
ขณะอาบน้ำให้ลูก….
– อย่าใช้มือที่ลื่นสบู่ประคองตัวลูก เพราะลูกอาจจะลื่นหลุดจากมือได้ง่าย
– อย่าทิ้งทารกไว้ในอ่างน้ำโดยไม่มีคนดูแม้เพียงนาทีเดียว
– อย่าวางลูกไว้บนเตียงหรือโซฟาโดยไม่มีคนดูแล
– อย่าทิ้งทารกไว้กับเด็กหรือสัตว์เลี้ยงโดยไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย
– ให้ทารกนอนหลับหงายบนที่นอนที่แข็งพอสมควร ไม่ควรนอนคว่ำค่ะ
 แหล่งที่่มาของเนื้อหา : http://women.mthai.com/momandchildren/mom-child/129606.html
แหล่งที่มาของวีดีโอ : https://www.youtube.com/watch?v=1yYE4-2VG-o

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น